โลกในทัศนะของชีวิต
ร่วมอธิบาย ตีความ หาความหมายของสิ่งรอบตัวไปด้วยกัน
วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554
จาก "ซินเดอเรลล่า" ถึง "ดวงตาในดวงใจ"
สวัสดีครับ บทความนี้เป็นบทความที่สองของผมนะครับ วันนี้เราจะมาพูดถึงนิทานปรัมปรา เรื่อง "ซินเดอเรลล่า" นิทานที่มีความคลาสสิค (แต่ไม่ได้เกิดในยุคคลาสสิค) นิทานเรื่องนี้มีความโด่งดัง มีการนำไปปรับปรุง แต่งเติมเสริมแต่ง ถูกนำไปตีความและนำไปเล่าใหม่ ว่ากันว่าแทบจะทุกมุมโลกที่มีงานวรรณกรรมเลยทีเดียว โดยแก่นของเรื่อง (Theme) ก็มุ่งเป้าไปที่ การเติมเต็มความฝันของเด็กผู้หญิง คุณงามความดี ธรรมมะย่อมชนะอธรรม บลาๆๆๆ ภาพยนต์หลายต่อหลายเรื่องที่นำเรื่องสาวน้อยในเถ้าถ่านมาเล่าใหม่ก็มักจะได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักอยู่เสมอ อย่างเช่นภาพยนต์ยอดนิยมขวัญใจคนกรุงเรื่อง "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" ที่แทบจะ Copy นิทานโบราณเรื่องนี้ เพียงแต่นำมาเล่าใหม่ ในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป เท่านั้นเอง
ล่าสุดถ้าหากใครได้รับชมละครจอเงินที่กำลังออนแอร์ทางช่อง 3 เรื่อง "แก้วตาในดวงใจ" ซึ่งนำแสดงโดย เฟิร์ส เอกพงศ์ จงเกษกรณ์ กับ หยาด หยาดทิพย์ ราชปาล ก็อาจจะเข้าใจความละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างเรื่องต้นฉบับอย่าง ซินเดอเรลล่า มาถึงเรื่องที่นำมาเล่าใหม่อย่างเรื่อง ดวงตาในดวงใจ หลายคนอาจบอกว่าเหมือน หลายคนอาจบอกว่ามันไม่เหมือน แต่สำหรับผม ความเหมือนหรือความแตกต่างกันของสองเรื่องนี้เปรียบได้กับ "มนุษย์" ทำไมหนะหรือครับ เพราะว่ามนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ กาย & จิต กายหรือรูปลักษณ์ภายนอกคือเรื่อง "ดวงตาในดวงใจ" ส่วนจิต หรือจิตวิญญาณคือเรื่องต้นฉบับ หรือเรื่อง "ซินเดอเรลล่า" นั่นเองครับ
เพลงพิณ นางเองของเรื่อง เป็นสาวน้อยนักศึกษา สะท้อนภาพลักษณ์ของ "ซินเดอเรลล่า"ในหลายๆจุด แม้ว่าเธอจะไม่ได้คลุกเถ้าถ่าน ยากจน หรือน่าสงสาร เพราะผู้แต่งได้นำเรื่องเก่ามาปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซินเดอเรลล่า จึงกลายเป็นเพลงพิณ ในคราบของเด็กนักศึกษาจากชนบท แต่ก็มีความน่ารัก ไร้เดียงสา แอ๊บแบ้วเบาๆ มีความเป็นศิลปิน(ติส)เล็กน้อย สิ่งที่เพลงพิณต้องการคือความรัก ชายหนุ่มที่เป็นดั่งวีรบุรุษขี่ม้าขาว เป็นเจ้าชายในสายตาของเธอและทุกๆคน และในที่สุดเธอก็ได้พบกับ "ศาสตร์" ชายหนุ่มเจ้าของบริษัทใหญ่โตที่เธอต้องการจะเข้ามาฝึกงาน ชายหนุ่มคนนี้สะท้อนภาพของ เจ้าชาย ในเรื่อง ซินเดอเรลล่า ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความสง่างาม ฐานะ ฐานันดร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความปรารถนาของเด็กผู้หญิงอย่างเพลงพิณ แต่เพื่อที่จะสำเร็จความปรารถนานี้ผู้ดำเนินเรื่องอย่างเพลงพิณจะต้องฟันฝ่าข้อพิสูจน์(preuves)และอุปสรรค์(obstacles)ต่างๆนาๆ ผู้ที่จะขัดขวางความฝันนี้คือ "มุกดารัศมิ์" หญิงที่มีความเหมาะสมกับ ศาสตร์ มากที่สุด เธอมีความเป็นผู้ดี (ผู้ดีหมายถึงผู้ที่รู้จักกาละและเทศะ) แต่ในเรื่องนี้เธอก็เหมือนนางร้ายทั่วๆไปคือ ต้องร้าย(เหงหละ) เธอเป็นผู้ดี คือทำตัวเเหมือนคนรู้จักกาละเทศะแต่เธอไม่เป็นผู้ดี คือเธอไม่รู้จักกาละเทศะเอาเสียเลย ชื่อของเธอคือ มุกดารัศมิ์ (มุก)ซึ่งสะท้อนความร่ำรวย ความเป็นที่หนึ่ง ความเป็นไฮโซ ความบริสุทธิ์ ซึ่งตรงกันข้ามกับชื่อของเพลงพิณ ซึ่งสะท้อนความเป็นท้องถิ่น ความร่าเริง ความสดใส ดังนั้นนางเอกและตัวร้ายเรื่องนี้จึงมีความขัดแย้งกันคล้ายๆกับเรื่อง ซินเดอเรลล่า (เริ่มเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ) ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวละครเอกผู้ดำเนินเรื่องอย่างสาวน้อยเพลงพิณจะไม่สามารถบรรลุความฝันเธอได้เลยถ้าหากปราศจาก "สิทธิเทพ" ปู่ผู้ล่วงลับของศาสตร์ ผู้ซึ่งคอยช่วยเหลือเพลงพิณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สิทธิเทพก็คือ นางฟ้า ในเรื่องซินเดอเรลล่าอย่างชัดเจนโดยไปจำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม
สรุปแล้วเรื่อง "ดวงตาในดวงใจ" คือเรื่อง "ซินเดอเรลล่า" ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ได้ใส่ความเป็นท้องถิ่น ดนตรีอีสาน ใส่ความโรแมนติก ความเพ้อฝัน สายลม ท้องทุ่ง และแสงแดด สะท้อนความฝันของหญิงสาวในสังคมปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้ว เรื่องแก้วตาในดวงใจก็เป็นละครที่น่าติดตาม ตลกคลายเครียดได้เป็นอย่างดี เป็นละครที่แฝงข้อคิด และเป็นละครสำหรับครอบครัว เหมาะสำหรับช่วงเวลาทานอาหารค่ำพร้อมหน้ากับครอบครัว ผมเชื่อว่าถ้าเปิดช่องสามดูแก้วตาในดวงใจก็ใจเพิ่มความอบอุ่น ความสนุกสนานแก่ทุกคนได้อย่างแน่นอน
ความคล้ายคลึงหรือความแตกต่างสามารถหาคำตอบได้รวมกัน ร่วมแชร์ความคิดเห็นได้อย่างเสรีครับ....
บทวิเคราะห์เรื่องคนนอก ( L'Etranger ) ชีวิตที่สูญสิ้นจากการเป็นขบถทางสังคม
ถ้าหากท่านผู้ใดเคยอ่านนวนิยายเรื่อง คนนอก หรือ L'Etranger ของ Albert Camus นักเขียนชาวฝรั่งเศสในช่วง ศ. 20 ก็คงจะมีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ อย่างแรกคือผู้เขียนตั้งใจจะสื่อความหมายของเรื่องไปในแนวไหน มีเหตุผลอย่างไรและการกระทำของตัวละครหลักนั้นตั้งใจจะหมายความว่าอย่างไร ผมเลยนำเนื้อเรื่องย่อของเรื่องคนนอกและบทตีความของผมเอง(ซึ่งอาจไม่เหมือนจะที่อื่นที่เคยตีความไว้) ลองเขียนลงในบล๊อกนี้
เนื้อเรื่องโดยสังเขป
Première partie
Aujourd’hui ,mama est morte . Ou peut-etre hier,je ne sait pas . J’ai reçu un télégramme de l’asile << Mère décédée Enterrement demain . Sentiments distinqueés >> Cela ne veut rien dire . C’était peut-etre hier.
นี่คือบรรทัดแรกของเรื่องคนนอกซึ่งเมื่ออ่านแล้วต้องกลับมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าเนื่องจากการอธิบายที่ค่อนข้างแปลก ในย่อหน้าแรกของเรื่องเรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมื่อเมอโซทราบข่าวการตายของแม่ ซึ่งก่อนเสียชีวิต แม่ของเขาอาศัยอยู่ที่บ้านพักคนชรา เขาอาจจะถูกสังคมมองว่า ไม่ใส่ใจแม่เท่าที่ควร อย่างน้อย ก็เห็นได้จากที่เขาให้แม่มาอยู่ที่บ้านพักคนชรา จนเมื่อแม่ตาย เขาปฏิเสธที่จะให้คนเปิดฝาโลงศพเพื่อดูหน้าแม่เป็นครั้งสุดท้าย และในคืนที่เฝ้าศพแม่ เขาสูบบุหรี่ต่อหน้าหลุมศพแม่อีกด้วย และยังดื่มกาแฟใส่นม เสร็จสิ้นพิธีฝังศพในวันศุกร์ วันถัดมาเขาก็ได้พบกับหญิงคนหนึ่ง เธอชื่อ มารี ทั้งสองไปว่ายน้ำและดูหนังด้วยกัน ทั้งสองเริ่มสนิทขึ้นเรื่อยๆ ทว่าไม่ได้มีนิยามความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งคู่ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่กามูเล่าผ่านตัวละครเอกอย่างเมอโซ นอกจากกิจกรรมที่ต่างฝ่ายมีต่อกันแล้ว ความปรารถนาในตัวซึ่งกันและกันแล้ว เราเข้าไม่ถึงความรู้สึกที่ลึกซึ้งในรูปแบบความรักแนวโรแมนติกเท่าไรนัก
มารีเคยถามเมอโซว่า อยากแต่งงานกับเธอไหม คำตอบของเมอโซก็คือ เฉยๆ จะแต่งก็ได้ มารีจึงอยากรู้ต่อว่า แล้วเขารักเธอไหม เมอโซได้แต่ตอบว่า ความรักนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เมื่อคนบอกว่า มารี คือเมียเก็บของเมอโซ แต่สำหรับเมอโซแล้ว มารีก็คือ 'มารี' เป็นนิยามที่ดีที่สุด
เมอโซไม่ละเอียดอ่อนต่อสิ่งรอบข้าง เช่น เรื่องของตาแก่ซาลามาโนและหมาขี้เรื้อนของเขา
ซาลามาโน เป็นเพื่อนข้างห้องในอพาร์ทเมนท์เดียวกัน เขามีสุนัขตัวหนึ่งที่อยู่ด้วยกันมาแปดปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมอโซรับรู้ได้ว่าซาลามาโนมักจะพาหมาขี้เรื้อนของเขาไปเดินเล่นสองครั้งต่อวัน เป็นกิจวัตรที่ไม่เคยเปลี่ยน ซาลามาโนดูเหมือนจะไม่ดีต่อสุนัขเท่าไร เพราะเขาไม่ยอมให้สุนัขหยุดฉี่ ไม่ยอมพาเดินออกนอกเส้นทาง เมื่อมันฝืนเขาก็จะตีและด่ามันจนมันหมอบด้วยความกลัว
เขาได้สุนัขตัวนี้มาหลังจากภรรยาตายได้ไม่นาน ตอนภรรยายังอยู่ ซาลามาโนไม่มีความสุขกับภรรยามากนัก แต่เป็นความคุ้นเคยที่มีต่อกันมากกว่า เมื่อหล่อนตาย เขารู้สึกโดดเดี่ยว จึงขอสุนัขมาเลี้ยง เขาบอกกับเมอโซว่า มันนิสัยไม่ดี บางคราวมันกัดคน แต่มันก็เป็นหมาที่ดีัตัวหนึ่ง
วันหนึ่ง ซาลามาโนกระวนกระวายเพราะหมาขี้เรื้อนของเขาหายไป เมอโซจึงแนะนำให้เขาไปที่โรงเก็บสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ และคงต้องเสียค่าปรับตามธรรมเนียม ซาลามาโนถามว่า ค่าปรับสูงมากไหม แล้วเขาก็โกรธขึ้นมาเองว่า ทำไมเขาจะต้องเสียเงินให้ไอ้หมาหัวเน่านั่นด้วย
แต่แล้ว ซาลามาโนก็กลับมาหาเมอโซใหม่อีกครั้ง คราวนี้เขาไม่ยอมสบตา "ตำรวจเขาคงไม่เอามันไปจากผมหรอกนะ เขาคงคืนมันให้ผมนะ ไม่เช่นนั้น ผมจะทำยังไง" เมื่อซาลามาโนกลับห้องไป เมอโซได้ยินเสียงประหลาดลอดช่องฝากระดาน ทำให้เขารู้ว่า ตาแก่ซาลามาโนร้องไห้ แล้วเพราะอะไรไม่ทราบแน่ชัด เขาก็คิดถึงแม่ขึ้นมาในตอนนั้น
เมอโซ มารี และเรมอนด์ ไปเที่ยวทะเลที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง ก่อนออกเดินทาง พวกเขารู้สึกได้ว่ามีกลุ่มชาวอาหรับติดตามอยู่ เรมอนด์คาดได้ทันทีว่า นั่นเป็นพี่ชายของเมียเก็บของเขาที่กำลังมีเรื่องกันอยู่ และพวกเขาได้เจอชาวอาหรับกลุ่มนั้นอีกเมื่อเดินทางไปถึงทะเล สัญญาณชักจะไม่ค่อยดีเสียแล้ว
จนเมื่อต้องปะทะกัน เรมอนด์ผู้ซึ่งออกจะรุนแรง เข้าปะทะกับคนกลุ่มนั้น เมอโซซึ่งรู้จักนิสัยเพื่อนดี พูดจาปรามเพื่อนเพื่อให้เหตุการณ์ไม่รุนแรงจนบานปลาย เขาสามารถเอาปืนมาเก็บเอาไว้ที่ตัวได้ แทนที่จะให้เป็นเรมอนด์ที่เป็นคนถือปืนเอาไว้ การปะทะกันครั้งนั้นต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บ แต่ไม่ถึงตาย
แต่เวลาผ่านไปไม่นาน โดยไม่มีเหตุผล เมอโซ ออกมาเดินที่ชายหาดเพียงลำพังอีกครั้ง และบังเอิญเจอกับชาวอาหรับกลุ่มเดิม พระอาทิตย์ส่องแสงแรงจ้า ร่างกายที่เหงื่อชุ่ม โดยไม่มีเหตุผลใดอธิบายได้ เขาเหมือนเห็นแสงสะท้อนของใบมีดที่กระทบกับดวงอาทิตย์ มันทำให้เขาคว้าปืนออกมายิงหนึ่งนัดจนอีกฝ่ายล้มลง และยิงซ้ำต่อไปอีกห้านัด ซึ่งแม้ตัวเขาเอง ก็ไม่อาจใช้เหตุผลใดอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้
Deuxième partie
เรื่อง 'คนนอก' มีการตายสามครั้ง ครั้งแรกในตอนเริ่มเรื่องที่แม่เมอโซตายจากไป ถัดมา ในช่วงกลางเรื่อง เป็นปมการตายของชาวอาหรับที่เมอโซเป็นฆาตกรจากการสาดกระสุนใส่เขาห้านัด
และนำไปสู่ตอนท้ายเรื่อง เมื่อเมอโซเข้าสู่กระบวนการศาลในคดีฆาตกรรมชาวอาหรับด้วยกระสุนห้านัด แต่คำถามใหญ่ที่เขาต้องเผชิญ กลับเป็นเรื่อง ทำไมเมอโซจึงให้แม่ไปพักอยู่ที่บ้านพักคนชรา ทำไมเมอโซจึงไม่ร่ำลาแม่ที่หลุมศพ ทำไมเมอโซจึงไม่รู้อายุของแม่ ทำไมเขาจึงไม่ร้องไห้ในพิธีศพ ทำไมเมอโซถึงไม่แสดงอาการเสียใจในการจากไปของแม่ของเขา
<< Messieurs les juré , le lendemain de la mort de sa mère , cet home prenait des bains , commençait une liaison irrégulière , et allait rire devant un film comique . Je n’ai rien de plus à vous dire >>
"ท่านคณะลูกขุน ในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันฝังศพของมารดา ชายผู้นี้ได้ไปว่ายน้ำ เริ่มมีความสัมพันธ์อันไม่สม่ำเสมอกับหญิงคนหนึ่ง อีกทั้งยังมีแก่ใจไปหาความสนุกสนานโดยการดูหนังตลก ข้าพเจ้าไม่มีอะไรมากกว่านั้นจะบอกท่านแล้ว"
ผู้พิพากษา ได้กล่าวกับเขาด้วยฐานความเชื่อของชาวคริสเตียน ว่าไม่มีใครผิดขนาดที่พระเจ้าจะอภัยให้ไม่ได้ แต่เพื่อที่พระองค์จะอภัย เขาผู้นั้นจะต้องสำนึกผิด
"ผมไม่เคยเห็นดวงวิญญาณใดชาเย็นเหมือนดวงวิญญาณของคุณ อาชญากรที่มาอยู่ต่อหน้าผมมักจะร้องไห้ต่อหน้ากางเขน ภาพแห่งความทุกข์ของพระองค์เสมอ"
ผู้พิพากษากล่าว ทำให้เมอโซคิดในใจและเกือบตอบออกไปว่า นั่นเพราะพวกนั้นเป็นอาชญากร จนเขาเองถึงฉุกคิดได้ว่า เขาก็กำลังถูกเรียกว่าเป็นอาชญากร
ทนายของเมอโซ เคยเกลี้ยกล่อมให้เขาแสดงความเสียใจต่อการจากไปของแม่ต่อหน้าศาล แต่เมอโซเลือกจะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาในแบบที่เขาเป็น ใช่แบบที่สังคมคาดหวังจะเห็น
คดีดำเนินไป โดยที่เมอโซมีโอกาสได้มีส่วนร่วมน้อยมาก ดูเหมือนว่าเขากลายเป็นผู้สังเกตการณ์ในคดีที่เขาเป็นจำเลยเอง แต่เขาก็ไม่ลุกขึ้นมาปกป้องหวงแหนชีวิตของตนเอง
ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า การลงโทษประหารชีวิตที่เมอโซได้รับ นั่นคือการลงโทษ หรือคืออะไรกันแน่
ก่อนการประหาร มีบาทหลวงหนึ่งคนพยายามที่จะขอติดต่อเข้าพบเมอโซเพื่อทำพิธีศีลอภัยบาปแต่เมอโซก็ปฎิเสธทุกครั้งไป
ในท้ายที่สุด เมอโซ ก็รู้สึกยินดีได้ กับสิ่งที่ตนต้องเผชิญในที่สุด
บทวิเคราะห์และการตีความเรื่อง
ท่านคณะลูกขุน ในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันฝังศพของมารดา ชายผู้นี้ได้ไปว่ายน้ำ เริ่มมีความสัมพันธ์อันไม่สม่ำเสมอกับหญิงคนหนึ่ง อีกทั้งยังมีแก่ใจไปหาความสนุกสนานโดยการดูหนังตลก ข้าพเจ้าไม่มีอะไรมากกว่านั้นจะบอกท่านแล้ว"
เมอโซรู้ดีอยู่แล้วว่า การร้องไห้ฟูมฟาย เศร้าโศกเสียใจต่อการตายของแม่นั้นไม่ได้ช่วยให้แม่เขาฟื้นขึ้นมาได้ ดังนั้นเขาจึงไม่ได้แสดงอาการเสียใจ พร้อมกับแสดงความเมินเฉยต่อหน้าศพแม่ด้วยการดื่มกาแฟและสูบบุหรี่พร้อมทั้งปฎิเสธที่จะดูหน้าแม่ก่อนพิธีฝังศพ ซึ่งแตกต่างจากผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นเหตุแรกที่ทำให้เมอโซถูกมองว่าเป็นคนแปลก
แม้ว่าเมอโซจะส่งแม่ของเขามาอยู่ที่บ้านพักคนชรา จนถูกมองว่าเขาไม่รักแม่ เมินเฉยต่อความรู้สึกแม่บังเกิดเกล้า แต่แท้ที่จริงแล้ว เมอโซนั้นได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่แม่เขาควรจะได้รับให้กับแม่ เนื่องจากว่าเขาไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าเลี้ยงดูแม่ถ้าหากว่าแม่ต้องอยู่กับเขา และเพราะว่าเขากับแม่รู้สึกเบื่อหน่ายพอสมควรที่จะต้องอยู่ด้วยกัน อาจเป็นเพราะว่าเขากับแม่นั้นมีนิสัยคล้ายคลึงกันคือเป็นคนเฉยชาและปล่อยวาง ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจให้แม่มาอยู่บ้านพักคนชรา สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำตามกรอบสังคมกำหนดแต่ทำตามความเป็นจริงเพื่อให้แม่และตนเองได้รับสิ่งที่ดีที่สุด โดยไม่สนใจว่าจะถูกสังคมมองในแง่ลบอย่างไร
ในเรื่องคนนอกนั้น มีการใช้สัญลักษณ์สื่อแทนสิ่งต่างๆมากมาย เช่นในระหว่างขบวนแห่ศพ เมอโซรู้สึกร้อนจากแสงแดดที่แผดเผาเขาอยู่ตลอดเวลา เราอาจเปรียบแสงแดดและความร้อนนั้นดั่งอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่มีอิทธิพลต่อทุกคน เพราะเมอโซมีความคิดต่อต้านพระเจ้าอยู่ในตัว เปรียบได้กับการที่เขาไม่สามารถทนแสงแดดและความร้อนได้ ซึ่งแตกต่างกับคนอื่นที่ยอมรับต่ออำนาจพระเจ้า ในขบวน เมอโซไม่ได้มีจิตใจจดจ่ออยู่ที่แม่ของเขาเลย ในทางตรงกันข้าม เขากลับรู้สึกแต่ความร้อนและสิ่งรอบข้างซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกจากคนทั่วไป ซึ่งถ้าหากบุคคลสนิทได้ล่วงลับไปก็คงไม่มีทางที่จะคิดแต่สิ่งรอบข้างเหมือนเมอโซ
หลังจากกลับจากงานศพเขาก็เริ่มความสัมพันธ์ด้านความรักโดยทันทีกับมารี หญิงสาวอดีตเพื่อนร่วมงาน โดยการไปว่ายน้ำเล่นด้วยกัน ดูหนังตลก และมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกมากและยากที่สังคมจะยอมรับได้ เพราะเมื่อวานเป็นวันตายของแม่เขา ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบกับคนทั่วไปแล้ว คงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถวางเฉยต่อเรื่องเศร้าได้มากถึงเพียงนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเมอโซปล่อยวางกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเข้าใจชีวิตเป็นอย่างดี
สำหรับในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน จากเรื่องจะสังเกตได้ว่า คนรอบข้างของเขาทุกคนนั้นรักและไว้ใจเขาเป็นอย่างมาก สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดว่า ภายใต้นิสัยอันแปลกประหลาดนั้นมีเพียงแต่คนที่สนิทกับเขาเท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสได้ถึงความดีงามที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของเขา
มารีเป็นอดีตผู้ร่วมงานกับเมอโซ ซึ่งได้แปลเปลี่ยนสถานะภาพจากผู้ร่วมงานเป็นคนรัก ตัวละครนี้อาจเปรียบได้เหมือนผู้หญิงในอุดมคติ ซึ่งรักเมอโซด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความรักอย่างแท้จริง เพราะเธอรักเมอโซในแบบที่เมอโซเป็น รู้ว่าเมอโซชอบสิ่งไหนเธอพร้อมที่จะยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเมอโซ ตราบจนวินาทีสุดท้าย
เรมงเป็นเพื่อนที่อยู่อพาร์ทเม้นเดียวกันกับเมอโซ เรมงได้รับการขนานนามว่าเป็นเหมือนแมงดาที่เกาะผู้หญิงกินพร้อมกันนั้นเขามักจะมีปากเสียงกับผู้หญิงของเขาจนทำให้เกิดเรื่องต่างๆมากมาย ในเรื่องเมอโซไม่ได้มีความคิดรังเกียจเพื่อนคนนี้เลย ในทางตรงกันข้าม เมอโซให้ความสนิทสนมและช่วยเหลือเรมงในทุกๆเรื่องเท่าที่จะทำได้ จนทำให้เรมงรักเมอโซมากแต่ในขณะที่ตัวเมอโซเองไม่ได้ยึดติดอะไรกับมิตรภาพนี้ซักเท่าไหร่ จากการวิเคราะห์กามูไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเรมง ซึ่งกามูเพียงต้องการแสดงให้เห็นอุปนิสัยบางอย่างของตัวเมอโซในการคบหากับเรมงอย่างเปิดเผยซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่อาจมีความรู้สึกรังเกียจและมองแต่ภายนอก โดยไม่ได้เข้าไปสนิทสนมด้วย
ในส่วนของซาลามาโนกับหมาขี้เรื้อน เปรียบให้เห็นค่อนข้างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ซึ่งซาลามาโนกับหมาขี้เรื้อนเปรียบเทียบได้กับเมอโซและแม่ของเขา ซาลามาโนนั้นเคยใช้ชีวิตกับภรรยามาช่วงหนึ่ง ภายหลังภรรยาของเขาได้จากไป เขาจึงเลี้ยงสุนัขเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป ในตอนที่สิ่งที่เขารักยังมีชีวิตอยู่ เขาก็ไม่ได้เอาใจใส่และแสดงความรักต่อสิ่งที่เขามี แต่หากเมื่อใดสิ่งนั้นได้หายไปก็จึงจะมารู้คุณค่าและคร่ำครวญถึงสิ่งที่ไม่อาจกลับมาได้แล้ว ไม่ต่างจากคนทั่วไปในสังคม บุคลิกดังกล่าวจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับตัวของเมอโซ ซึ่งเมอโซได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่แม่ของเขาเมื่อตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ และในขณะที่แม่เขาจากไป เขาก็ไม่ได้แสดงอาการโศกเศร้าเสียใจแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะสิ่งที่เขาได้ทำมานั้นถือว่าทำดีที่สุดแล้ว
หลังจากนั้นเมอโซ มารี เรมง มาสซอง และภรรยาของมาสซอง ได้ไปพักผ่อนวันหยุดที่ชายทะเล เมอโซ มารี และมาสซองได้ว่ายน้ำเล่นกันท่ามกลางแสงแดดอันแรงกล้า แสงแดดนั้นนอกจากจะเปรียบได้ดั่งอำนาจของพระเจ้าแล้วก็ยังเปรียบได้ดั่งความรัก
ความสดใสที่ตัวมารีมีต่อตัวเมอโซ
หลังจากนั้นเมื่อได้กลับไปที่พักแล้วพวกเขาก็ได้ออกมาที่ชายหาดอีกครั้งหนึ่งโดยมี เรมง มาสซองและเมอโซ โดยได้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับกลุ่มชาวอาหรับที่เป็นคู่อริกับเรมง
โดยที่เรมงโดนมีดแทงบาดเจ็บ หลังจากนั้นด้วยความโกรธแค้น เรมงได้ออกมาอีกครั้งพร้อมกับอาวุธปืนโดยที่เมอโซเดินตามมาด้วย ทำให้เราเห็นว่าเมอโซเป็นคนรักเพื่อนแต่ไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน ทั้งสองได้เผชิญหน้ากับกลุ่มชาวอาหรับกลุ่มเดิม ด้วยสติยั้งคิดของเมอโซทำให้เรื่องราวไม่บานปลาย
แต่หลังจากนั้นเมอโซได้ออกมาคนเดียวอีกครั้งหนึ่งพร้อมอาวุธปืนที่เขาหยิบมาจากเรมง เขาได้พบคู่อริของเรมงอีกครั้ง ท่ามกลางแสงแดดร้อนระอุที่กดดันตัวเขาไม่ให้ถอยหลังกลับไป และเมื่อเขาเห็นแสงสะท้อนจากมืดของชาวอาหรับ เมอโซได้ตัดสินใจลั่นไกปืนใส่ชาวอาหรับคู่อริ 1 นัดและตามด้วยอีก 4 นัดใส่ร่างที่ไม่ขยับเขยื้อนแล้ว
เมื่อวิเคราะห์แล้วแสงอาทิตย์นั้นก็เหมือนอำนาจของพระเจ้าที่มีอิทธิพลต่อเมอโซโดยที่เมอโซนั้นเลือกที่จะปฎิเสธอำนาจของพระเจ้า ซึ่งเพียงแค่เขาหันหลังกลับไปและยอมอดทนต่อความร้อนและแสงแดดซักพัก เรื่องราวเลวร้ายก็จะไม่เกิดขึ้นเป็นแน่แท้แต่เขาเลือกที่จะทำตามความต้องการของเขาเองและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น จากการสันนิษฐานคาดว่าชื่อของเมอโซ [ Meusault ] นั้นอาจมาจากคำว่า Mer + Soleil ทะเลและดวงอาทิตย์นั้นเหมือนกับเป็นที่ๆเป็นจุดพลิกผันของเรื่อง
หลังจากนั้นเมอโซได้ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมโดยมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าซึ่งคดีของเขาจะถูกพิจารณาก่อนคดีปิตุฆาตซึ่งคนมองว่าสำคัญกว่าคดีของเขา เมอโซอยู่ในห้องขังก็ใช้เวลาไปกับการคิดถึงสิ่งของในห้องนอนเก่าของเขาและชีวิตในอดีต หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเขาก็ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็นราวกับว่าเขาไม่ยึดติดกับสถานที่เลย ครั้งหนึ่งเมอโซเคยขอบุหรี่จากผู้คุมขัง แต่เขาไม่สามารถจะสูบบุหรี่ได้ดังนั้นขาดบุหรี่ก็เปรียบเหมือนการถูกลิดรอนซึ่งอิสรภาพที่ตัวเขาควรจะได้ เหมือนการลงทัณฑ์จากพระเจ้าและสังคม
ภายในห้องขังของเขามีลูกกรงอยู่ด้านหลังซึ่งแสงสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ก็เปรียบเหมือนโอกาสที่พระเจ้าหยิบยื่นให้ ขอเพียงแค่เมอโซสำนึกในความผิดที่เขาได้กระทำซึ่งพระเจ้าและสังคมก็พร้อมที่จะให้อภัย แต่เมอโซได้ปฎิเสธขอเสนออย่างไม่แยแส
ระหว่างการพิจารณาคดีเมอโซถูกโจมตีอย่างรุณแรงจากคำกล่าวหาของอัยการโดยที่ตัวเขาไม่ได้มีความพยายามทำให้รูปคดีของตัวเองดีขึ้นโดยการปกป้องตัวเอง แม้แต่ทนายของเขาก็ไม่สามารถช่วยเขาได้ เมอโซตอบคำกล่าวหาด้วยความรู้สึกแท้จริงของตนเองโดยปราศจากการโกหกหลอกลวงเหมือนคนทั่วไปที่มีความกระตือรือร้นเพื่อเอาชีวิตรอดตามสัญชาตญาณทั่วไปของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นเมอโซไม่ได้มีท่าทีตื่นตระหนกใดๆระหว่างการตัดสินคดี เพราะเขาคิดเสมอว่าเขาไม่ได้มีความผิดใดๆตามที่ถูกกล่าวหา
เมื่อวิเคราะห์แล้ว อัยการก็เปรียบเสมือนการตัดสินจากสังคมที่กำหนดเป็นรูปแบบตายตัวมาแล้วว่าเราควรจะทำตัวอย่างไร
น่าสังเกตที่เมอโซนั้นได้ก่อคดีอาชญากรรม นับเป็นคดีที่รุนแรงแต่ในความจริงแล้วถ้าหากยอมรับผิดก็อาจจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษได้บ้าง แต่สำหรับคดีของเมอโซ เขาไม่มีสิทธิมีเสียงในการออกความคิดเห็นใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นเขากลับถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาพจิตใจและความคิดที่แปลกของเขาจากคนทั่วไปในสังคม แทนที่เขาจะได้รับการพิจารณาคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมแต่เขากลับถูกอัยการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสภาพจิตใจซะเป็นส่วนใหญ่ สิ่งนั้นทำให้คดีของเขารุนแรงขึ้น บางครั้งเขาพยายามที่จะอธิบายความคิดของเขาแต่สิ่งที่เขาต้องการสื่อนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากใครเลย ซ้ำร้ายอาจทำให้รูปคดีของเขานั้นแย่ลงไปกว่าเดิม
หลังจากนั้นเมอโซก็ได้รับการตัดสินว่ามีความผิด โดยได้รับโทษประหารชีวิตโดยเครื่องกิโยติน โดยมีบาทหลวงผู้หนึ่งติดต่อและพยายามจะเข้าพบกับเมอโซ แต่เมอโซก็ปฎิเสธคำขอของบาทหลวงอย่างไร้ซึ่งเยื่อใย ซึ่งก็เปรียบเหมือนการปฏิเสธซึ่งอำนาจของพระเจ้า อาจเป็นไปได้ว่าเมอโซได้ปล่อยวางและยอมรับกับผลที่จะตามมาแล้ว ดังนั้นความรักความหวังดีจากพระเจ้าก็ไม่ได้มีความหมายใดกับเขา
การที่เขาถูกประหารด้วยเครื่องประหารกิโยตินนั้นอาจเป็นเพราะว่า เครื่องประหารนี้มีไว้สำหรับพวกเจ้าขุนมูลนายและพวกที่มีความคิดเห็นแต่ต่างไปจากผู้อื่น ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เกิดในยุคที่มีการประหารโดยใช้กิโยติน แต่กามูใช้กิโยตินเป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่าเมอโซมีความคิดแตกต่างไปจากกรอบสังคม จนต้องพบกับจุดจบของชีวิต
วันสุดท้ายของชีวิตเมอโซ เขาได้แต่ครุ่นคิดว่าถ้าเขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานกว่านี้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขาบ้าง เขาได้พรรณนาถึงความมืดยามราตรีซึ่งเปรียบเสมือนการดับสิ้นและความตาย และในฉากสุดท้ายเขากลับมีความรู้สึกยินดีที่จะยอมรับความตายเนื่องจากสิ่งที่เขาได้ก่อขึ้นมาเพียงเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า การทำสิ่งที่ผิดแปลกไปจากสังคมนั้นสมควรแล้วหรือที่จะทำให้เขาได้รับโทษถึงเพียงนี้
การมีความคิดเห็นคัดแย้ง หรือปฎิบัติตัวผิดต่อค่านิยม(สิ่งที่คนในสังคมเห็นว่าดี) นำมาซึ่งความหายนะ ทั้งๆที่เขาอาจมีความคิด มีสติปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์แต่กลับถูกมองว่าเป็นคนนอก เป็นคนผิด เป็นคนเลว เป็นคนชายขอบของสังคมสมควรได้รับการลงทัณต์ สังคมปัจจุบับควรนำเรื่องคนนอกไปศึกษาเพื่อการเคารพสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิทางการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางความคิด รวมไปถึงการแสดงออกทางการเมือง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)